คอลัมน์: ชีพจรครู: เปิดร่างเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ 'ประเมินสมรรถนะ'



พบกันอีกแล้วกับ "ชีพจรครู" ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะขอนำเรื่อง "ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีและเลื่อนวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะ" มาบอกเล่าให้เพื่อนข้าราชการครูได้ทราบกันก่อน แม้ว่ายังไม่ได้ประกาศใช้ 

แต่ก็แน่นอนว่าร่างหลักเกณฑ์นี้จะต้องนำออกมาใช้อย่างแน่นอน เพราะเป็นแนวทางตามนโยบายของ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้มีการนำผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินวิทยฐานะ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวออกมาแล้ว จากนั้นจะได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบ 
โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะใช้ประเมินสามส่วน ได้แก่ สายงานการสอน สายนิเทศการศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ (ศน.) และสายรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการ สพท.แต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้ 

1.สายงานการสอน คุณสมบัติ ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนับถึงวันที่ยื่นคำขอตามที่กำหนด คือ วิทยฐานะชำนาญการ ต้องเป็นครูไม่น้อยกว่า 1 ปี ชำนาญการพิเศษ ต้องเป็นครูชำนาญการไม่น้อยกว่า 1 ปี เชี่ยวชาญต้องเป็นครูชำนาญการพิเศษไม่น้อยกว่า 1 ปี เชี่ยวชาญพิเศษ ต้องเป็นครูเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 1 ปี และต้องมีภาระงานสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด 

ส่วนการประเมิน ขั้นแรกต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะด้านความรู้และความสามารถเชิงทฤษฎี และด้านประสบการณ์วิชาชีพและการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์การผ่านขั้นต่ำที่กำหนดไว้ อย่างวิทยฐานะชำนาญการ ผ่านการทดสอบด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และเชี่ยวชาญพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการประเมินที่จะต้องมีการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน เช่น พัฒนาผู้เรียนโดยพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการในชั้นเรียน การวัดเละประเมิน การวิจัยในชั้นเรียน ฯลฯ โดยกำหนดให้ผู้ขอรับการประเมินต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในลักษณะที่เป็นสารนิพนธ์ไม่เกิน 20 หน้า เสนอสารนิพนธ์และผลการพัฒนาผู้เรียนจำนวน 4 ชุด จะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ปัจจุบันที่ผู้ขอรับการประเมินจะทำรายงานเป็นรูปเล่มที่หนาหลายร้อยหน้า 
สำหรับเกณฑ์การตัดสิน เพื่อให้ได้รับวิทยฐานะ ผลการปฏิบัติงานต้องสำเร็จตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนจากผลคะแนนโอเน็ต เช่น วิทยฐานะชำนาญการ นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ได้เปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 ขึ้นไประดับเขตพื้นที่การศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ มีนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ได้เปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 ขึ้นไประดับภาค วิทยฐานะเชี่ยวชาญ มีนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ได้เปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 ขึ้นไประดับประเทศ อีกทั้ง จะดูผลสัมฤทธิ์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ การอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียน ซึ่งกำหนดให้วิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ นักเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 มีคะแนนในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50, 60 และ 70 ตามลำดับวิทยฐานะ

2.สายนิเทศการศึกษา หรือ ศน. คุณสมบัติ ผู้ขอรับการประเมินต้องมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ตามที่กำหนด คือ ชำนาญการ ต้องเป็น ศน.ไม่น้อยกว่า 1 ปี ชำนาญการพิเศษ เป็น ศน.ชำนาญการ ไม่น้อยกว่า 1 ปี เชี่ยวชาญ ต้องเป็น ศน.ชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า 1 ปี และเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องเป็น ศน.เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 1 ปี

ส่วนการประเมิน ต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะเช่นเดียวกัน เช่น ชำนาญการพิเศษผ่านการทดสอบในระดับเริ่มต้นและผลคะแนนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ชำนาญการพิเศษ ผ่านการทดสอบในระดับปานกลาง เป็นต้น ส่วนด้านผลการปฏิบัติงาน ที่จะดูผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจากคะแนนโอเน็ต กำหนดไว้ อาทิ ชำนาญการ มีนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ได้เปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 ขึ้นไประดับเขต ชำนาญการพิเศษ มีนักเรียนกว่าร้อยละ 40 ได้เปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 ขึ้นไประดับภาค เป็นต้น นอกจากนี้จะดูคุณลักษณะอันพึงประสงค์และการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน วิทยฐานะ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ นักเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 มีคะแนนในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50, 60, 70 และ 80 ตามลำดับวิทยฐานะ

3.สายรองผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการ สพท. จะกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ เช่น กรณีรอง ผอ.สพท.ต้องดำรงแหน่งรอง ผอ.สพท.ชำนาญการพิเศษ มีภาระงานบริหารและจัดการศึกษาเต็มเวลา หากคุณสมบัติครบ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาจะตั้งคณะกรรมการประเมินก่อนการปฏิบัติงาน จากนั้นจะประเมินสาระสำคัญในข้อตกลงการปฏิบัติงานและให้ผู้ขอรับการประเมิน ลงนามข้อตกลงที่จะมีการประเมิน 1 ปีงบประมาณ เป็นต้น 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บอกว่าต้องนำร่างหลักเกณฑ์ฯนี้ มาดูอีกครั้งเพราะครูจำนวนมากจะสอนหลายวิชาในหลายระดับชั้น แต่การประเมินจะมีแค่ 1 วิชาเอกเท่านั้น 
เอาเป็นว่าระหว่างนี้เพื่อนๆ ข้าราชการครู ลองศึกษาข้อมูลที่นำเสนอนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวไปก่อน เมื่อมีร่างหลักเกณฑ์ฯ ประกาศออกมาใช้ จะได้มีความพร้อมและผ่านการประเมินวิทยฐานะอย่างฉลุย 





ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน