โรงเรียนบ้านตือระมิตรภาพที่ ๑๗๒ - สพป.นราธิวาส เขต ๒ - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน - กระทรวงศึกษาธิการ
ครูผช.ข้อสอบรั่ว 33 ชุด โยง 3 บิ๊ก สพฐ. ศธ.ชี้โกงล้านเปอร์เซ็นต์ แฉพบทุจริต 60 จว.ทั่วปท.
ครูผช.ข้อสอบรั่ว 33 ชุด โยง 3 บิ๊ก สพฐ. ศธ.ชี้โกงล้านเปอร์เซ็นต์ แฉพบทุจริต 60 จว.ทั่วปท.
พบข้อสอบครูผู้ช่วยรั่วไหล 33 ชุดวิชามาจากส่วนกลาง ระบุเชื่อมโยง 3 บิ๊ก สพฐ.ร่วมขบวนการทุจริต ′เสริมศักดิ์′ย้ำชัดโกงล้าน% แฉภาคอีสานทุจริตสอบหนักกว่าใคร
กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบเบื้องต้นพบหลักฐานชี้ชัดว่ามีการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว 12 ครั้งที่ผ่านมาจริงรวมทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1.ให้บุคคลอื่นสอบแทน 2.นำข้อสอบไปเฉลยเพื่อท่องจำก่อนเข้าห้องสอบ และ 3.นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบ โดยจะสรุปผลการสืบสวนเบื้องต้นส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้พิจารณาว่าจะยกเลิกการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ และเตรียมเรียกกลุ่มผู้มีคะแนนสูงผิดปกติในการสอบ 486 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 60 จังหวัดทั่วประเทศ และกรณีพบทุจริตสอบครูผู้ช่วยอีก 2 ราย ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ยโสธร เขต 1 เขียนเฉลยคำตอบบนยางลบ และ สพป.อุดรธานี เขต 3 ดูเฉลยจากโทรศัพท์มือถือ แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ปกปิดเป็นความลับ จึงไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ทุจริตทั้ง 2 ราย นั้น
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เปิดเผยว่า การสอบครูผู้ช่วยครั้งที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าทุจริต และมีข้อสอบรั่วจากส่วนกลาง อยู่ระหว่างให้ดีเอสไอสอบสวนเรื่องนี้อยู่ จากข้อมูลที่มีอยู่ค่อนข้างชัดเจนว่าโกงล้านเปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่ทั้งหมดต้องรอให้ดีเอสไอสอบสวนและสรุปอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในส่วนข้อมูลของผู้ที่ได้คะแนนสูง และได้คะแนนเต็มในส่วนของการสอบ (ภาค ก.) ในบางวิชา จากทั้งหมด 4 วิชา จำนวน 486 คนนั้น มีรายชื่อหมดแล้ว กำลังรอดีเอสไอตรวจสอบ เมื่อดูตามข้อเท็จจริง ในการสอบต่อให้เก่งมากแค่ไหน ก็ไม่น่าทำคะแนนได้เต็ม เพราะใน 4 วิชา บางคนได้คะแนนเต็มถึง 3 รายวิชา วิชาละ 50 คะแนน ส่วนอีกวิชาหนึ่งได้เกือบเต็ม รวม 4 วิชา 200 คะแนน ได้ถึง 198 คะแนน เมื่อเปิดดูกระดาษคำตอบของคนกลุ่มนี้แล้ว จะกาคำตอบเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ จะเร่งให้ดีเอสไอมาเปิดดูกระดาษคำตอบที่ได้สั่งอายัดเอาไว้ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ
"กรณีพบผู้ทุจริตที่ สพป.ยโสธร เขต 1 และ สพป.อุดรธานี เขต 3 ในวันที่สอบ แต่ สพฐ.ให้ปิดเป็นความลับ และไม่ให้แจ้งความเพราะเกรงจะเกิดปัญหานั้น ปกติแล้วต้องแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าสอบแต่เมื่อไม่ดำเนินการอะไร ก็เป็นข้อมูลที่ต้องให้ดีเอสไอไปตรวจสอบด้วย ถือว่าไม่ถูกต้องหาก สพฐ.สั่งให้ปกปิดเรื่องนี้ ผมมองว่าการสอบครูผู้ช่วยคราวนี้กระทบคนจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้ที่ให้ข้อมูลเยอะมาก ที่สำคัญทุกคนจะรู้กันว่าใครสอบได้และสอบไม่ได้ เพราะทุกคนจะรู้ว่ามีข่าวเสียเงินเสียทอง และหากไม่แก้ไขปัญหานี้แล้ว ทั้งชาติก็สอบบรรจุไม่ได้แน่ แม้บางคนจะเป็นพนักงานราชการมา 10 กว่าปี ฉะนั้น ถ้าพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้ จะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน" นายเสริมศักดิ์กล่าว
นายเสริมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ออกไปจากที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 13 มีนาคม เพื่อรอผลสรุปจากดีเอสไอนั้น ได้หารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว นายพงศ์เทพเห็นด้วย เช่นเดียวกับการเสนอให้ยกเลิกการสอบนั้น มีแนวโน้มยกเลิกเป็นรายเขตพื้นที่ฯ และรายวิชาเอก
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กรณีมีผู้ระบุว่ามีพนักงานราชการที่อายุงานไม่ถึง 3 ปี ตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติให้สมัครสอบคัดเลือก ได้ติดสินบนให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำเอกสารรับรองว่าทำงานครบ 3 ปี หากเป็นเช่นนั้นจริงถือว่าทุจริตและมีความผิดทั้งในส่วนของผู้ที่สมัครสอบคัดเลือก และในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียน ในฐานะที่ทำเอกสารทางราชการปลอม นอกจากนี้ เขตพื้นที่ฯ ที่รับคนเหล่านี้เข้าไปบรรจุก็มีความบกพร่องและมีความผิดด้วย เพราะก่อนบรรจุต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องและชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม หากใครมีข้อมูลในส่วนนี้ แจ้งมาได้ที่ สพฐ. แต่ สพฐ.จะยังไม่ลงไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นคนละส่วนกับการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยที่กำลังตรวจสอบกันอยู่
นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า วันนี้นายเสริมศักดิ์ได้ลงนามคำสั่งถึงเลขาธิการ กพฐ.เพื่อสั่งการให้ สพฐ.ให้ข้อมูลเอกสาร และหลักฐานที่เกี่ยวกับการสอบครูผู้ช่วยแก่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่ผ่านมาการขอเอกสาร หลักฐาน และข้อมูลจากพนักงาน และเจ้าหน้าที่ สพฐ.ทั้งในส่วนกลาง และเขตพื้นที่ฯ มีปัญหามากอ้างว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะต้องรอการสั่งการจากผู้บริหาร สพฐ.ก่อน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของนายพิษณุ กล่าวว่า พบผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนสูงและเข้าข่ายทุจริต 468 คน แบ่งเป็น ผู้เข้าสอบใน สพป. 388 คน ดังนี้ ภาคตะวันตก 4 คน 4 จังหวัด ภาคอีสาน 252 คน 22 จังหวัด ภาคเหนือ 35 คน 6 จังหวัด ภาคกลาง 26 คน 13 จังหวัด ภาคตะวันออก 26 คน 5 จังหวัด และภาคใต้ 17 คน 8 จังหวัด ส่วนอีก 98 คน เป็นผู้เข้าสอบในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 98 คน แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 2 คน ภาคเหนือ 1 คน ภาคกลาง 15 คน ภาคตะวันออก 6 คน ภาคอีสาน 72 คน ภาคใต้ 1 คน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 คน
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่ง กล่าวว่า จากผลการสอบขณะนี้ มีความชัดเจนว่ามีข้อสอบรั่วไหลจำนวน 33 ชุด แบ่งเป็น ข้อสอบชุดที่ 1 ความรู้ทั่วไป (รหัส 101) ชุดที่ 2 ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (รหัส 200) มีวิชาเอก 30 วิชา ชุดที่ 3 ความถนัดและเจตคติต่อวิชาชีพครู (รหัส 301) และชุดที่ 4 ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู (รหัส 401) จากส่วนกลาง คือจากคนใน สพฐ.โดยมีผู้บริหารเกี่ยวข้องกับปัญหาข้อสอบรั่ว 3 ราย เชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับผู้อำนวยการคนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ.อีก 2 ราย อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และบกพร่องในการบริหารงาน อาจจะมีความผิดในคดีอาญา และความผิดทางวินัยด้วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอผลการสอบสวนของดีเอสไอมาประกอบ
ด้านนายประเวศ รัตนะบุรี ผอ.สพป.อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การสอบครูผู้ช่วยที่ สพป.3 เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมานั้น มีผู้เข้าสอบเพียง 100 คนเศษ ขณะที่สอบผู้ควบคุมห้องสอบตรวจพบผู้เข้าสอบเป็นชาย 1 คน นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบผิดระเบียบชัดเจน ล่อแหลมต่อการทุจริต แต่ยังไม่พบการทุจริต ผู้ควบคุมห้องสอบจึงยึดโทรศัพท์มือถือ และรายงานให้คณะกรรมการควบคุมการสอบทราบ
"คณะกรรมการได้เชิญผู้เข้าสอบออกจากห้อง ตรวจสอบพบแผ่นเอกสาร 1 ฉบับ มีลักษณะเป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นตัวเลขอะไร จึงตรวจยึดเอกสารไว้อีก และทำบันทึกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานและไม่ให้ชายคนดังกล่าวเข้าสอบ พร้อมกันนั้นได้รายงานทางโทรศัพท์ให้ สพฐ.รับทราบ ซึ่งคำสั่งให้เดินทางเข้ารายงาน สพฐ.ด้วยตนเอง ก็ได้เดินทางไปในวันรุ่งขึ้น หลังจากรายงานด้วยวาจาแล้วทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมสำเนาเอกสารที่ยึดไปด้วย"
ผอ.สพป.อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า ชายที่เข้าสอบพร้อมโทรศัพท์มือถือดังกล่าว มีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง เครื่องแรกได้ฝากไว้กับผู้คุมห้องสอบ แต่อีกเครื่องนำเข้าไปในห้องสอบด้วยซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องเก่าแต่ "ซิม" ใหม่ เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ และเครื่องที่เอาเข้าห้องสอบยังเก็บรักษาไว้ที่ สพป.อุดรธานี 3 โดยได้ไปแจ้งความเป็นหลักฐาน ที่ สภ.หนองหาน อุดรธานี แต่แจ้งความดำเนินคดีไม่ได้ เพราะไม่ใช่นิติบุคคล ต้องให้ สพฐ.มอบอำนาจก่อน
นายประเวศกล่าวอีกว่า ได้รายงานให้ส่วนกลางรับทราบทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้ง รมช.ศธ. และ เลขาฯสพฐ. รับทราบทั้งหมดแล้ว เพราะจากนั้นได้มีคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรเพื่อการศึกษา (กกศ.) เดินทางมาสอบสวน และตนก็พร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอที่จะเดินทางมาสอบสวนด้วยในเร็วๆ นี้
http://www.matichon.co.th