สพฐ.เร่งคลอดเกณฑ์"วิทยฐานะ"ใหม่ เน้นสมรรถนะครู-ผลสัมฤทธิ์นักเรียน เล็งนำร่อง3สาขา"อังกฤษ-คณิต-วิทย์"


เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะ ว่า ขณะนี้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังจัดทำหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้อยู่ ซึ่ง สพฐ.จะให้ใช้การประเมินในสาขาวิชาที่มีความพร้อมก่อนใน 3 สาขาวิชา คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางเบื้องต้นว่าในการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ จะไม่เน้นการทำผลงานทางวิชาการ แต่จะประเมินสมรรถนะของครูผู้สอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน อย่างคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นสำคัญ เป็นต้น ส่วนผลงานวิชาการจะให้ทำคล้ายๆ สารนิพนธ์ มีความหนาไม่เกิน 50 แผ่น จากเดิมที่การทำผลงานจะมีความหนามากกว่า 50 แผ่น

นายชินภัทรกล่าวว่า ด้านขั้นตอนการประเมินนั้น ครูที่จะเข้ารับการประเมินวิทยฐานะจะต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะจากหน่วยงานกลางตามที่กำหนดไว้ก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการประเมิน โดยการนำใบรับรองสมรรถนะมายื่นได้ ทั้งนี้ วิทยฐานะชำนาญการจะต้องผ่านการประเมินสมรรถนะระดับต้น วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ต้องผ่านประเมินสมรรถนะระดับกลาง และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ต้องผ่านการประเมินสมรรถนะระดับสูง ส่วนการส่งกรรมการลงไปประเมินในระดับสถานศึกษานั้น อาจลงไปตรวจสอบข้อมูลครูที่ขอเข้ารับการประเมินว่าเป็นอย่างไร อย่างกรณีสมรรถนะของเด็ก จะต้องไปดูในโรงเรียนว่าเด็กมีสมรรถนะจริงตามที่แจ้งหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีประจักษ์พยานที่ชัดเจน

"การประเมินวิทยฐานะด้วยการประเมินสมรรถนะนี้ จะเปิดโอกาสให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะเพิ่มขึ้น เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ผ่านมามีครูผ่านการประเมินไม่ถึง 10% ของผู้ที่เข้ารับการประเมิน แต่วิธีการประเมินใหม่นี้จะเป็นธรรมมากขึ้น ใครที่ตั้งใจทำงานแต่เขียนผลงานไม่เก่ง จะมีสิทธิผ่านประเมินมากยิ่งขึ้น เพราะจะดูผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และสมรรถนะผู้สอนเป็นหลัก" นายชินภัทรกล่าว

นายชินภัทรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ช่วยทำหน้าที่ประเมินสมรรถนะของผู้ที่จะเข้ารับการประเมิน เนื่องจาก สสวท.มีความเชี่ยวชาญใน 2 วิชานี้ ทั้งนี้ สพฐ.จะเร่งจัดทำรายละเอียดให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการประเมินวิทยฐานะต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบในหลักการแล้ว จึงไม่น่าจะต้องนำเสนอให้อนุมัติอีกครั้ง

(ที่มา:มติชนรายวัน 26 ธ.ค.2555)